กีฬากอล์ฟซบเซาในตลาดตะวันตก ต้องปรับตัวจับคนรุ่นใหม่ เอเชียยังรุ่ง เวียดนามอาจเติบโตเร็วที่สุด
ช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมา ผู้เชี่ยวชาญด้านกระแสสังคมและเศรษฐกิจพากันบอกว่าคนรุ่นมิลเลนเนียลหรือเจนวาย (กลุ่มคนที่เกิดระหว่างปี พ.ศ. 1980-2000) คือฆาตกรโหด เป็นกลุ่มคนที่ค่อยๆ ไล่สังหารผลิตภัณฑ์หลายชนิดด้วยการเลิกใช้งานจนแทบจะเลือนหายไปจากตลาด เช่น ผ้าเช็ดปาก สบู่ก้อน มีดโกนหนวด ฯลฯ กีฬากอล์ฟก็เกือบจะเป็นหนึ่งในนั้นด้วยเช่นกัน
แม้คนรุ่นใหม่จะคลั่งไคล้การออกกำลังกาย แต่กีฬากอล์ฟดูจะไม่ดึงดูดใจคนกลุ่มนี้มากนัก ขณะที่คนรุ่นเก่ากว่าซึ่งชื่นชอบกีฬากอล์ฟก็เริ่มแก่ตัวลงไปเรื่อยๆ ปริมาณการเล่นกอล์ฟจึงลดน้อยลง และยอดขายสินค้าเกี่ยวกับกีฬากอล์ฟก็หดตัวลงอย่างชัดเจน
บลูมเบิร์กระบุว่าจำนวนผู้เล่นกอล์ฟเป็นประจำลดลงถึง 10 ล้านคน ในช่วงเวลาระหว่างปี 2002 ถึง ปี 2016 ขณะที่วอลล์สตรีทเจอร์นัลรายงานว่า บ้านริมสนามกอล์ฟกลายเป็นฝันร้ายของผู้ซื้อซึ่งในอดีตยอมจ่ายเงินราคาแพงลิ่วเพื่อแลกกับความสวยงามของสนามหญ้าเขียวขจี แต่เมื่อความนิยมในกีฬากอล์ฟเริ่มเสื่อมถอย สนามกอล์ฟในสหรัฐฯ จึงต้องปิดตัวลงหลายร้อยแห่ง บ้างถูกปล่อยปละละเลยจนหญ้าแห้งเหี่ยวหรือถูกทิ้งร้างจนทรุดโทรม ส่งผลให้ราคาบ้านและคอนโดมิเนียมริมสนามกอล์ฟตกต่ำตามไปด้วย บ้านที่เคยซื้อขายกันด้วยราคา 20-30 ล้านเหรียญ อาจมีมูลค่าลดถึง 25-50 %
ปรับตัวเพื่อดึงคนรุ่นใหม่ ขณะที่สนามกอล์ฟแบบเก่าค่อยๆ เสื่อมความนิยมลงในตลาดตะวันตก ในเวลาเดียวกัน สนามกอล์ฟรูปแบบใหม่ก็ถือกำเนิดขึ้นมาแทนที่โดยมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบสนามไดรฟ์กอล์ฟแบบเก่าเพื่อรองรับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อให้ประสบการณ์ที่คล้ายคลึงกับการออกไปตีกอล์ฟกลางแจ้งมากขึ้น และรวมเอาความบันเทิงอื่นๆ เข้ามาไว้ในพื้นที่เดียวกันเพื่อดึงดูดใจทั้งนักกอล์ฟและผู้ที่ไม่ใช่นักกอล์ฟ
บริษัทแรกที่ประสบความสำเร็จกับธุรกิจนี้อย่างจริงจังคือท็อปกอล์ฟ ซึ่งมีต้นกำเนิดในประเทศอังกฤษ ท็อปกอล์ฟใช้วิธีฝังไมโครชิพไว้ในลูกกอล์ฟเพื่อบันทึกข้อมูลการตีของนักกอล์ฟแต่ละราย โดยนักกอล์ฟต้องตีลูกไปยังเป้าหมายซึ่งมีลักษณะคล้ายกระดานปาเป้าขนาดใหญ่ ยิ่งเข้าใกล้เป้ามากเท่าไหร่ก็จะได้คะแนนมากขึ้นเท่านั้น แต่มีการใช้โปรแกรมจำลองภาพและสถานการณ์ เพื่อให้รู้สึกคล้ายกับกำลังเล่นในสนามจริง
บริเวณที่นั่งของผู้เล่นจะมีระบบปรับอากาศ สามารถสั่งอาหารและเครื่องดื่มให้มาเสิร์ฟถึงที่ มีดนตรีให้ฟัง มีทีวีให้ดูรายการกีฬาต่างๆ นอกจากนั้นยังมีการเปิดชั้นเรียนสอนการเล่นกอล์ฟ จัดการแข่งขันกอล์ฟ จัดคอนเสิร์ต รับจัดงานเลี้ยงวันเกิดและงานสังสรรค์ต่างๆ อีกด้วย สนามกอล์ฟรูปแบบใหม่จึงกลายเป็นศูนย์รวมความบันเทิงที่มาใช้บริการได้สะดวก ไม่ว่าจะมาเดี่ยวหรือมาเป็นกลุ่ม และคนทั้งครอบครัวก็สามารถมาใช้เวลาร่วมกันได้อย่างเพลิดเพลิน
ปัจจุบันท็อปกอล์ฟมีสาขา 53 แห่ง ในสหรัฐฯ อังกฤษและออสเตรเลีย โดยรายได้ราวครึ่งหนึ่งมาจากอาหารและเครื่องดื่ม ความสำเร็จของท็อปกอล์ฟทำให้เริ่มมีคู่แข่งรายอื่นที่ให้บริการในรูปแบบคล้ายคลึงกันปรากฏตัวขึ้นเพื่อหวังช่วงชิงส่วนแบ่งตลาด โดยจะมีบริษัทอื่นอย่างน้อย 3 แห่ง เปิดให้บริการที่สหรัฐฯ ภายในปีนี้ นอกเหนือจากไดรฟ์แช็ค ซึ่งเปิดตัวแล้วและถือเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวที่สุดในปัจจุบัน
ย้ายฐานการเติบโต ตัวเลขสถิติต่างๆ ของ NGF แสดงให้เห็นว่า ในระยะหลัง ความเติบโตของตลาดกีฬากอล์ฟเริ่มย้ายฐานจากแถบอเมริกาเหนือและยุโรป ซึ่งเป็นตลาดเก่าแก่ที่เริ่มอิ่มตัว มายังประเทศแถบเอเชียที่ยังมีลู่ทางให้เติบโตได้อีก และดูเหมือนว่าตลาดที่เติบโตเร็วที่สุดในภูมิภาคนี้คงจะเป็นเวียดนาม โดยปัจจุบัน เวียดนามมีสนามกอล์ฟ 78 แห่ง และกำลังสร้างอยู่อีก 43 แห่ง ซึ่งเวียดนามนั้นมีประชากรเกือบ 100 ล้านคน จัดเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรสูงเป็นอันดับ 5 ของโลก
กีฬากอล์ฟเป็นที่นิยมของชาวฮานอยจำนวนมาก แต่ละวัน แทบทุกสนามจะมีผู้เล่นมากกว่า 200 คน และเมื่อถึงวันหยุด สนามกอล์ฟแทบทุกแห่งในฮานอยจะแน่นขนัดไปด้วยนักกอล์ฟ แม้สนามกอล์ฟใหม่ๆ ที่เพิ่งสร้างและกำลังสร้างจะขยายตัวไปสู่พื้นที่ห่างไกลออกไปตามแนวชายหาดริมทะเลจีนใต้ ไม่ได้อยู่ในเมืองหลวงของประเทศ แต่เมื่ออุปสงค์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงเชื่อว่านักกอล์ฟชาวฮานอยน่าจะยอมเดินทางไกลกว่าเดิมเพื่อไปเล่นในสนามที่สวยงามและบรรยากาศดีกว่าสนามกอล์ฟรุ่นเก่าซึ่งหลายๆ แห่งอยู่บนภูเขา
ทั้งนี้ รายงานประจำปี 2018 ของ NGF ให้ข้อมูลว่า นับถึงช่วงปลายปี 2018 ทั่วโลกมีสนามกอล์ฟอยู่ 38,864 แห่ง กระจายอยู่ใน 209 ประเทศ โดย 78 % ของสนามกอล์ฟ กระจุกตัวอยู่ในสิบประเทศ ได้แก่ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น แคนาดา อังกฤษ ออสเตรเลีย เยอรมนี ฝรั่งเศส เกาหลี สวีเดนและสกอตแลนด์ โดยในสหรัฐฯ มีสนามกอล์ฟมากถึง 16,752 แห่ง คิดเป็น 43 % ของจำนวนสนามกอล์ฟทั่วโลก ขณะที่อันดับ 2 อย่างญี่ปุ่น มีสนามกอล์ฟ 3,169 แห่ง ส่วนประเทศไทยติดอันดับ 20 ด้วยจำนวนสนามกอล์ฟ 315 แห่ง
Credit :
- https://www.ngf.org/report/golf-around-the-world/
2.https://www.theaustralian.com.au/business/property/golf-estates-face-bogey-of-sports-decline/news-story/fa778964521424371ffb1d0750187037?fbclid=IwAR0rdshsZKVnTC3ybZ3imCyTH9hGcIFNSUa0OrW8HJyswbfUoHeQ9SujAPs
3.https://www.golfadvisor.com/articles/report-millennials-are-killing-golf-also-millennials-are-saving-golf
4.https://www.forbes.com/sites/erikmatuszewski/2019/03/11/vietnam-may-be-worlds-fastest-growing-golf-market/#470b637b4498
5.https://topgolf.com/
-
← ก่อนหน้าหนีร้อนเมืองกรุง มุ่งสู่ขุนเขา รอยัล ฮิลส์ นครนายกThursday, 28 March 2019
-
ถัดไป →วันศุกร์หนีรถติด ไปพิชิต พัทยาคันทรี่คลับFriday, 29 March 2019
Comments